เนื้องอกมีกี่ชนิด สาเหตุ และแนวทางในการรักษา

ร่างกายของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน ประกอบไปด้วยเซลล์หลายชนิดและมีการผลิตเซลล์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งเซลล์ก็ถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยไม่จำเป็นจนกลายเป็นเนื้องอกเกิดขึ้น แล้วเนื้องอกที่เกิดขึ้นกับร่างกายเรานี้คืออะไร เรามาหาคำตอบกันในบทความนี้

เนื้องอก

เนื้องอกคืออะไร

เนื้องอก คือ เซลล์ในร่างกายมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติ อาจจะเป็นเนื้องอกธรรมดา หรืออาจจะเป็นเป็นเซลล์มะเร็งก็ได้ โดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั้นก็จะมีการรักษาที่มีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ชนิดของการเกิดเนื้องอก

เนื้องอกแบบธรรมดา

เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้วไม่แพร่กระจายลุกลามไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อในอวัยวะอื่นๆ แต่ก็สามารถจะเป็นอันตรายกับร่างกายได้หากไปกดทับอวัยวะสำคัญอย่างเส้นเลือด และเส้นประสาท

  • สาเหตุ โดยทั่วไปแล้ว มักไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกแบบธรรมดาได้ แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้ เช่น ความเครียด, อาหาร, การติดเชื้อ, กรรมพันธุ์, ร่างกายได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม, ร่างกายได้รับอาการบาดเจ็บ เป็นต้น
  • การรักษา หากไม่ได้เป็นเซลล์เนื้อร้าย และบริเวณที่เป็นไม่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากเนื้องอกที่อยู่ภายนอกร่างกายมีขนาดใหญ่ โดยทั่วไปแล้วก็จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อบริเวณนั้นออกไป แต่ถ้าหากเกิดขึ้นภายในร่างกายที่อาจเป็นอันตราย เช่น เนื้องอกในสมอง เนื้องอกที่อาจไปกดทับเส้นเลือด แพทย์อาจจะทำการผ่าตัดหรือฉายรังสีเพื่อกำจัดก้อนเนื้อออกไป

เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย

เซลล์เนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็ง เป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และแพร่กระจายไปบริเวณอื่นๆ เข้าไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อใกล้เคียงให้ได้รับความเสียหาย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยนั้นเสียชีวิตลงได้

  • สาเหตุ สำหรับปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์เป็นประจำ, อาหารการกิน, ภาวะอ้วน, กรรมพันธุ์, ร่างกายโดนแสงแดดมากเกินไป เป็นต้น
  • การรักษา สำหรับการรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในระยะที่เป็น และสุขภาพร่างกายผู้ป่วยโดยภาพรวม ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้ การผ่าตัดเพื่อนำเอาเนื้อร้ายออกไปจากร่างกายของผู้ป่วย, การใช้รังสีบำบัดยิงคลื่นพลังงานสูงเพื่อกำกัดเซลล์มะเร็ง, การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อไม่ให้เซลล์มะเร็งมีการลุกลามเพิ่มขึ้น, การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง, และการรักษาแบบผสมผสาน

การป้องกันการเกิดเนื้องอก

การป้องกันทำได้โดยการดูแลสุขภาพให้ดี ซึ่งมีวิธีปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พวกผักและผลไม้ โปรตีนจากเนื้อปลา
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดแรงๆ เป็นเวลานาน

หากคุณมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายอย่านิ่งนอนใจ อย่างเช่นการเกิดเนื้องอกนี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นเซลล์มะเร็ง เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที