มาทำความรู้จักเห็ดดาวดิน เป็นเห็ดหายากจริงไหม

มีคำกล่าวว่า “เห็ดดาวดิน” เห็ดที่หายาก 1 ใน 10 ของโลก แท้จริงแล้วอาจจะดูเกินความจริงไป เพราะในเมืองไทยสามารถพบเห็นเห็ดชนิดได้ทั่วทุกภาค และมีด้วยกันหลายชนิด วันนี้เราได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดดาวดินมาฝาก เอาแบบชัดเจน และถูกต้อง

ทำความรู้จักเห็ดดาวดิน

เห็ดดาวดิน (Earthstars) เป็นชื่อเรียกของเห็ดกลุ่มหนึ่งที่ เมื่อเป็นดอกอ่อนมีลักษณะกลมถึงเกือบกลมอาจจะมีก้านขนาดเล็กหรือไม่มีก็ได้ แต่เมื่อแก่เต็มที่แล้วเปลือกหรือผนังด้านนอกจะฉีกขาดออกเป็นแฉกคล้ายกับดอกไม้หรือดาว อันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มเห็ดดาวดินนั่นเอง และภายในบริเวณกึ่งกลางรอยแฉกมีก้อนกลม ๆ อยู่ตรงกลางภายในเต็มไปด้วยหน่วยสืบพันธุ์ หรือที่เรียกว่า สปอร์ (spores) บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก

เห็ดดาวดินในประเทศไทย

เห็ดดาวดินในประเทศไทยพบอยู่ด้วยกัน 2 สกุลใหญ่ ๆ คือ

1.สกุลเห็ดดาวดิน (Geastrum) เห็ดสกุลนี้ดำรงชีวิตเป็นเห็ดผู้ย่อยสลาย (saprophytic mushrooms) มักพบกระจายอยู่ตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและมีเศษซากอินทรีย์วัตถุที่กำลังย่อยสลาย ทับถมกันอย่างหนาแน่น  ในประเทศไทยซึ่งมีรายงานอย่างน้อย 12 ชนิด ได้แก่

  1. เห็ดดาวดิน Geastrum drummondii Berk.
  2. เห็ดดาวดิน G. fimbriatum Fr.
  3. เห็ดดาวดิน G. lageniforme Vitt.
  4. เห็ดดาวดิน G. minus (Pers.) G. Cunn. (ชื่อปัจจุบัน G. quadrifidum DC. ex Pers.)
  5. เห็ดดาวดินจิ๋ว หรือ เห็ดดาวดินขอนไม้ (G. mirabile Mont.) พบได้ทั่วประเทศไทย
  6. เห็ดดาวดิน G. nanum Pers. (ชื่อปัจจุบัน G. schmidelii Vittad.)
  7. เห็ดดาวดิน G. pectinatum Pers.
  8. เห็ดดาวดินชมพูหม่น (G. rufescens Pers.)
  9. เห็ดดาวดินกลม (G. saccatum Fr.) พบได้ทั่วประเทศ
  10. เห็ดดาวหาง (G. stipitatum Solms) (ชื่อปัจจุบัน G. schweinitzii (Berk. & M.A. Curtis) Zeller)
  11. เห็ดดาวดินปลอกคอ (G. triplex Jung)
  12. เห็ดดาวดินใหญ่ (G. velutinum Morgan)ฟ

2.สกุลเห็ดเผาะ (Astraeus) เห็ดสกุลนี้ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับรากของพืชในรูปแบบเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal mushrooms) กับพืชบางวงศ์ยางนา วงศ์ก่อ วงศ์สนเขา เป็นต้น พบกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง สำหรับเห็ดเผาะหนังและเห็ดเผาะฝ้ายยังถูกจัดว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจระดับชุมชนกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ในประเทศไทยมีรายงานอย่างน้อย 3 ชนิด

  1. เห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticus C. Phosri et al.)
  2. เห็ดเผาะหนัง (A. odoratus C. Phosir et al.)
  3. เห็ดเผาะสิรินธร (A. sirindhorniae Watling et al.)

จากข้อมูลดังกล่าว เห็ดดาวดินในประเทศไทยสามารถพบได้ง่ายตามพื้นที่อุทยานและป่าอนุรักษ์ หากได้เดินป่าลองสังเกตตามพื้นดิน ขอนไม้จะพบเห็ดดาวดินเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญไม่ควรนำเห็ดที่ไม่คุ้นเคยมารับประทานเป็นอันขาด