การปลูกต้นไม้ต้องดูแลเอาใจใส่ทั้งเรื่องดิน น้ำ วัชพืช ศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ย ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผักที่เราปลูก เมื่อพืชป่วยขาดแร่ธาตุที่จำเป็นมักจะแสดงอาการออกมา หากเราหมั่นสังเกตก็จะสามารถแก้ไขได้ทันเวาล
อาการของการขาดธาตุอาหารของต้นไม้ที่พบบ่อย
1.พืชโตช้า ต้นแคระแกรน ใบมีสีเหลือง
อาการขาดธาตุไนโตรเจนหากพืชมีอาการโตช้า ต้นแคระแกรน ออกดอกลดลง ใบเริ่มซีดจากปลายใบ ถ้ารุนแรงเป็นสีน้ำตาลลามสู่กลางใบเป็นรูปตัววี (V) ใบจะร่วงก่อนกำหนด
2.ใบแก่สีม่วงแดง ขอบใบม้วน ผอมสูง ลำต้นบิด
อาการขาดธาตุฟอสฟอรัส ใบแก่มีสีม่วงแดง ขอบใบม้วนงอไหม้ ต้นโตช้า ดอกและผลที่ออกมาไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงจากขั้วได้ง่าย ผลค่อนข้างจะสุกแก่ช้ากว่าปกติ
3.ใบแก่มีสีเหลืองซีด มีจุดสีน้ำตาลไหม้
อาการขาดธาตุโพแทสเซียม ใบแก่มีสีเหลืองซีดตามขอบใบ ขอบใบจะม้วนงอ มีจุดสีน้ำตาลไหม้ เริ่มจากปลายใบสู่กลางใบ ต้นโตช้า เมล็ดเหี่ยวย่นหรือบิดเบี้ยว ถ้าเป็นมะเขือเทศเนื้อจะเละ เมล็ดธัญพืชมีเมล็ดเล็กลีบ น้ำหนักเบา
4.ใบสีจุดสีเหลืองทั่วทั้งใบ ปลายใบแห้ง
อาการขาดธาตุแมกนีเซียม ใบแก่จะมีอาการมากกว่าใบอ่อน ใบมีจุดประสีเหลืองอยู่ทั่วทั้งใบ เหลืองซีดหรือขาวระหว่างเส้นใบในขณะที่เส้นใบยังคงเขียว ตรงขอบจะมีจุดสีน้ำตาล ปลายใบจะแห้งเป็นสีน้ำตาล ให้ผลผลิตลดน้อยลงและต้นพืชทรุดโทรม
5.ใบมีจุดเหลืองคล้ายราสนิม
อาการขาดธาตุสังกะสี จุดเหลืองกระจายในใบแก่คล้ายราสนิมในกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวใบจะเหลืองซีดหรือขาวเป็นทางสลับเขียวระหว่างเส้นใบเกิดจากปลายใบสู่โคนใบ
6.ใบมีสีเขียวจัดแต่ค่อยๆกลายเป็นสีเหลือง
อาการขาดทองแดง ใบพืชจะมีสีเขียวจัดผิดปกติ เวลาต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสีเหลือง
7.ยอดใบไหม้ โตช้า
อาการขาดธาตุโบรอน อาการขาดธาตุนี้จะเห็นเด่นชัดเมื่อขาดน้ำมากๆ โดยยอดและใบอ่อนไหม้ ส่วนที่ยอดและตายอดจะบิดงอ โตช้า ร่วงหลุดง่าย มีสารเหนียวๆ ออกมาตามเปลือกของลำต้น มักพบในพืช เช่น ผักสลัด
เราจะเห็นได้ว่าเมื่อต้นไม้ขาดแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ก็จะแสดงอาการออกมาทาง “ใบ” ไม่ว่าจะใบเหลือง ใบด่าง ใบม้วน เป็นต้น หากเราหมั่นตรวจดูพืชผักอย่างสม่ำเสมอก็จะได้แก้ปัญหาเสียเนิ่นๆ จะไม่ส่งผลกับต้นไม้ที่เรารัก